ช่วงนี้ได้ยิน ได้เห็นคำนี้บ่อยจนทำให้คิดว่า ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าเราอยากให้เงินภาษีของเราไปลงที่กระทรวงไหน ทบวงไหน กรมไหน กองไหน หน่วยงานไหน ได้ด้วยตัวเราเองก็คงจะดี ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป นั่นก็คือรัฐบาลที่บริหารเงินภาษีของเรา... จะได้ไม่ต้องเสียค่าบริหารจำนวนมากมายให้เขา และเอาเงินของเราไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วย
ความจริงแล้วด้วยเทคโนโลยี่การเงินแบบปัจจุบัน ผมคิดว่าน่าจะทำได้ไม่ยาก เวลาที่เรายื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็มีรายการขึ้นมาให้เราเลือกได้เลยว่าเราอยากให้ภาษีของเราไปที่ไหน สามารถเลือกได้แบบไม่จำกัด แล้วก็เอาเงินภาษีของเราไปหารเท่ากับจำนวนหน่วยงานที่เราได้เลือกเอาไว้และก็สั่งจ่ายไปให้ทุกๆ หน่วยงานที่เราเลือกแบบเท่าๆ กัน แค่นี้เราก็สามารถบริหารเงินภาษีที่เราต้องจ่าย ตรงให้กับหน่วยงานที่เราอยากจะให้ อยากจะให้เขาพัฒนา อย่างที่เราต้องการได้ หน่วยงานไหนทำดีกับเรา บริการเราดี เห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราก็มอบเงินภาษีเราให้กับเขา หน่วยงานไหนบริการไม่ดี ไม่เห็นหัวเรา ไม่มีการพัฒนาใดๆ เราก็ไม่ให้ภาษีของเรากับหน่วยงานนั้น เพียงเท่านี้ รับรองว่าทุกหน่วยงานจะมีการพัฒนาและปรับตัวอย่างแน่นอน เพื่อหวังว่าเขาจะได้รับเงินภาษีจากเราในปีถัดไป ซึ่งภาษีของเราต้องจ่ายทุกปี ปีนี้เขาบริการเราดี เราก็ให้ภาษีเรากับเขา ปีหน้าบริการเราไม่ดี เราก็ไม่ให้ภาษีเรากับเขา เรียกว่าตัดสินกันปีต่อปีเลย ดีกว่าจ้างคนเข้ามาบริหารทีละ 4-5ปี เปลี่ยนก็ไม่ได้ ไม่ถูกใจก็ต้องทนรอ4-5ปี บางครั้งก็ออกกฎหมายมาให้ตัวเองอยู่ยาวๆ อีกต่างหาก...
แต่ก็ไม่ต้องห่วง เพราะคนที่เราจ้างเขาเข้ามาบริหารนั้นก็ยังคงต้องจ้างต่อไป แต่ว่าลดจำนวนลง เพราะมีภาษีแบบอื่นๆ ที่ยังต้องให้เขาเข้ามาบริหารอยู่ เช่นภาษี VAT. และภาษีอื่นๆ เพื่อเอาไว้จ่ายให้กับหน่วยงานที่ไม่มีคนบริจาคภาษีให้ หรือบริจาคให้น้อย ไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินเดือนพนักงานในหน่วยงานนั้น ซึ่งหน่วยงานนั้นก็คงจะต้องพิจารณาตัวเอง และปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้ประชาชนจ่ายเงินภาษีให้เขามากขึ้นในปีต่อๆ ไป
เพียงเท่านี้เราก็จะบริหารเงินภาษีของเราได้ด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องให้ใครมาบริหาร ไม่ต้องมาขัดแย้งกันเพราะเงินภาษีของเรา...
ขอฝากกรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเอาไว้พิจารณาและพัฒนาระบบภาษีแบบจ่ายตรง เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปในทิศทางที่ประชาชนอยากเห็นได้ดีกว่าทุกวันนี้...
By: K.C.A.N
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น