วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ปลุกวิญญาณความเป็นช่างในตัวคุณ

หยุดอยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไร พอดีไปพบกับแผงวงจรที่เคยซื้อมาเมื่อปีที่แล้ว เป็นแผงวงจรที่ใช้ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านโทรศัพท์มือถือโดยใช้ระบบ Bluetooth ในการสั่งงาน ซึ่งสามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กๆ ที่ใช้กระแสไฟไม่เกิน 10A ได้ (ดูจากอัตราทนกระแสของหน้าสัมผัสรีเลย์) หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่เกิน 2000วัตต์  (10A x 220V) แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ควรจะเกิน 1000W เพื่อความปลอดภัย (Safety Spec.) 

ไหนๆ ก็ว่างอยู่ ก็เลยหยิบออกมาทำเป็นโปรเจค ปลั๊กพ่วง ควบคุมด้วยโทรศัพท์มือถือเลยดีกว่า โดยตอนแรกก็ต้องทดลองแผ่นวงจรก่อนว่ายังสามารถทำงานได้อยู่หรือเปล่า โดยต่อไฟ 5V เข้าไป และลองสั่งปิด สั่งเปิด รีเลย์ดู ซึ่งก็สามารถสั่งให้รีเลย์ทำงานได้ จึงได้เริ่มสั่งกล่องสั่งปลั๊ก สั่งสายไฟมา 

หลังจากที่ได้ของครบ ก็เริ่มลงมือทำกันเลย โดยได้เริ่มจากกล่องก่อน ได้เจาะช่องสีเหลี่ยม เพื่อให้ปลั๊กตัวเมียสามารถโผล่ออกมาได้ เจาะรูสำหรับสายไฟออก เจาะรูยึดแผงวงจร เจาะรูยึดปลั๊กตัวเมีย เมื่อเจาะครบแล้วก็เริ่มทำขั้นตอนต่อไป โดยเริ่มจากยึดปลั๊กตัวเมียให้อยู่กับที่บนฝากล่องที่เจาะเอาไว้ 

เดินสายไฟ ระหว่างรีเลย์ ที่อยู่บนแผงวงจรเข้ากับปลั๊กตัวเมีย จากนั้นก็ยึดแผงวงจรให้อยู่กับที่ ตามรูที่เจาะเอาไว้  

จากนั้นก็ติดแหล่งจ่ายไฟตรง 5V เพื่อเลี้ยงแผงวงจร ในที่นี้ผมก็ใช้หม้อแปลงชาร์จมือถืออันเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาทำหน้าที่ ซึ่งมันก็ทำหน้าที่ได้ดีที่เดียว

และขั้นตอนสุดท้ายก็คือต่อสายไฟ 220V เข้ากับระบบ ซี่งในขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านนิดหน่อย เพราะว่ามันอันตรายเพราะถ้าต่อผิดไฟอาจช๊อตได้ และก็เป็นไฟที่มีระดับแรงดันค่อนข้างสูงด้วย อาจได้รับอันตรายได้ พอดีว่าผมเรียนมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ แต่เป็นหลักสูตรเมื่อ 30ปีที่แล้ว ยังไม่มี Wifi, Bluetooth ใดๆ แต่ก็พอมีพื้นฐานด้านไฟฟ้าอยู่บ้างครับ

หลังจากประกอบทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยก็ถึงตอนทดสอบใช้งานกัน แล้ว โดยใช้พัดลมในการทดสอบ ซึ่งก็ทำงานได้ดีทีเดียว 

ปัญหาที่พบ ณ ตอนนี้คือเรื่องโปรแกรม APK ที่แถมมาให้กับแผ่นวงจรไม่สามารถที่จะใช้กับ Android รุ่นใหม่ๆ ได้ น่าจะใช้ได้กับ Android รุ่น 6,7,8 เพราะลองเอาไปลงที่มือถือลูกสาวเป็น Android รุ่น 10แล้วใช้งานไม่ได้ แต่สำหรับมือถือของผมสามารถใช้งานได้เพราะเป็นรุ่นเก่า อันนี้คงต้องศึกษาเรื่องการเขียนซอฟแวร์เพิ่มเติม ซึ่งก็คงจะยากเหมือนกัน

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ภรรยาคอมเม้นท์มาก็คือเรื่องความปลอดภัย อยากให้มีสวิทช์ ปิด/เปิด และควรติดตั้งฟิวส์ด้วย และอีกเรื่องคือเมื่อเวลาไฟดับ และไฟเลี้ยงแผ่นวงจรดับ จะต้องมาเข้ารหัสใหม่ทุกครั้งด้วย จึงไม่ค่อยสะดวก... ซึ่งจะต้องเก็บเอาไว้พัฒนาต่อ เรื่องสวิทช์ ปิด/เปิด และฟิวส์ ก็ไม่น่าจะยากอะไร แต่เรื่องเวลาไฟดับต้องมาเข้ารหัสเพื่อต่อ Bluetooth ใหม่ อันนี้น่าจะลำบาก เพราะยิ่งถ้าติดสวิทช์ ปิด/เปิด ด้วยแล้ว ทุกครั้งที่ปิด นั่นคือควรจะตัดไฟเลี้ยงแผ่นวงจรด้วยเช่นกัน 

https://youtu.be/M-ydAAA-U0I

ส่วนลูกสาวบอกว่า ควรจะมีไฟแสดงสถานะด้วย ไม่อย่างงั้นก็ไม่รู้ว่าปลั๊กอันไหน เปิด หรือ ปิด อยู่อีก... ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนา แต่ไม่สงสารคุณพ่อที่เป็นคนทำเลยอ่ะ ยิ่งใส่โน่นใส่นี่เข้าไปต้นทุนก็ยิ่งสูง แล้วจะขายได้รึ 555 เอาเป็นว่าจะค่อยๆ พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แล้วจะมาอัปเดทให้ฟังเป็นระยะแล้วกัน

ช่วงเวลาโควิดที่ต้องอยู่กับบ้าน ก็หาอะไรทำไปเรื่อยๆ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถกันครับ อย่าอยู่เฉยๆ เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่า แม้จะไม่มีรายได้ แต่ก็หาอะไรที่เก็บจากของเก่าๆ มาทำใหม่ก็ได้ ก็ขอให้ทุกๆ คนปลอดภัยการโควิด-19 กับทั่วๆ หน้าครับ

By: KCAN


ไม่มีความคิดเห็น: